ประวัติ ของ เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์

อับดุลเลาะห์เกิดเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ที่เมืองศรีนครในครอบครัวพ่อค้าชาวมุสลิม สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอิสลาเมีย ในเมืองลาฮอร์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) และจบปริญญาโททางด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งเมืองอาลีการ์ อับดุลเลาะห์เริ่มเล่นการเมืองใน พ.ศ. 2474 โดยตั้งคณะกรรมาธิการแห่งกัษมีระและคัดค้านการยิงฝูงชนของตำรวจที่หน้าศาลระหว่างการพิจารณาคดีของอับดุลกาดีร์เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 ทำให้ถูกจำคุกเป็นครั้งแรก

แนวคิดของอับดุลเลาะห์นั้น ไม่ต้องการแบ่งแยกผู้นับถือศาสนาฮินดูและอิสลามออกจากกัน และเห็นด้วยกับการแยกศาสนาออกจากการเมือง เมื่อจัดตั้งองค์กรมุสลิมคอนเฟอเรนซ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่กัษมีระ อับดุลเลาะห์ที่เป็นหนึ่งในผู้นำขององค์กรได้นำเสนอระบบการแยกศาสนาออกจากการเมือง ทำให้องค์กรนี้เปลี่ยนชื่อเป็นคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติใน พ.ศ. 2482 และมีความใก้ชิดกับคองเกรสแห่งชาติอินเดียที่มีนโยบายแยกศาสนาออกจากการเมืองเช่นกัน ต่อมา ใน พ.ศ. 2487 อัลดุลเลาะห์ได้ตีพิมพ์แผนก่อตั้งกัษมีระใหม่ ซึ่งประกอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐและแผนเศรษฐกิจของชาติ โดยรัฐธรรมนูญเน้นให้ความเสมอภาคทางศาสนาและเชื้อชาติ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ภาษาแห่งชาติได้แก่ ภาษาแคชเมียร์ ภาษาโดกรี ภาษาปัญจาบ ภาษาฮินดีและภาษาอูรดู โดยให้ภาษาอูรดูเป็นภาษากลางของรัฐ แผนเศรษฐกิจของชาติเน้นให้ทุกคนมีงานทำ ให้สวัสดิการแก่เด็กและผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม อับดุลเลาะห์มีความขัดแย้งกับมูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ประธานสันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดียเพราะเขาหวังจะจัดตั้งปากีสถาน โดยมีกัษมีระเป็นส่วนหนึ่งของประเทศใหม่นี้ และกลายเป็นคู่แข่งกัน นอกจากนั้น มหาราชาหริสิงห์แห่งกัษมีระก็ไม่พอใจแผนกัษมีระใหม่ และพยายามบั่นทอนอำนาจของคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติ อับดุลเลาะห์จึงจัดตั้งขบวนการเพื่อขับไล่ราชวงศ์ที่ปกครองกัษมีระใน พ.ศ. 2489 ทำให้เขาถูกจำคุกอีก ชาวกัษมีระที่สนับสนุนอับดุลเลาะห์ออกมาประท้วงจึงถูกปราบปรามอย่างรุนแรง อับดุลเลาะห์ถูกจำคุกอยู่ 3 ปี และมหาราชาสั่งปิดคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติ แม้ว่าเนห์รูจะพยายามทักท้วง แต่กลับทำให้มีความแตกแยกระหว่างมุสลิมกับผู้นับถือศาสนาฮินดูมากขึ้น และอับดุลเลาะห์ถูกมองว่าเป็นฝ่ายฮินดู

หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษและให้สิทธิแก่รัฐต่างๆว่าจะเป็นอิสระหรือจะรวมเข้ากับอินเดียหรือปากีสถาน คอนเฟอเรนซ์แห่งชาติเรียกร้องให้มหาราชาสละบัลลังก์เสียก่อน ส่วนมุสลิมนั้นต้องการให้มหาราชาประกาศเอกราช จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 อับดุลเลาะห์และสมาชิกคอนเฟอเรนซ์แห่งชาติที่ถูกจับกุมไว้ก่อนหน้านี้ถูกปล่อยตัว ทำให้จลาจลในกัษมีระสงบลง จนกระทั่ง 22 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ชาวปาทานได้เคลื่อนกำลังมายังศรีนคร มหาราชาจึงตัดสินใจรวมเข้ากับอินเดีย อินเดียจึงประกาศรวมกัษมีระเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2490

หลังจากนั้น อับดุลเลาะห์ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองกัษมีระ แต่เนื่องจากแนวคิดของเขาต้องการให้กัษมีระเป็นเอกราชจึงมีความขัดแย้งกับอินเดียจนถูกจำคุกหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจเดิม เขาได้เป็นมุขมนตรีรัฐชัมมูและกัษมีระใน พ.ศ. 2520 จนถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2525

ใกล้เคียง

เชคสเปียร์ต้องตาย เชคส์กีส์ เชค แช็ค เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์ เชคอีซา อิบน์ อาลี อัลเคาะลีฟะฮ์ เชคูปุรา เชคอีซา บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ เชคสเปียร์ เชค ฮาซีนา เชคฮามัด บิน คอลีฟะห์ อัลตานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์ http://www.chowk.com/articles/5304 http://books.google.com/books?id=CWjLtfi-ssIC&pg=P... http://www.greaterkashmir.com/ http://www.zackvision.com/weblog/2003/10/my-life-i... http://www.lib.berkeley.edu/SSEAL/SouthAsia/kashmi... http://www.mtholyoke.edu/acad/intrel/sasia.htm http://jammukashmir.nic.in/govt/cntit1.htm#1 http://ikashmir.net/historicaldocuments/index.html... http://www.ummah.net/kashmir/docs/ody7.htm http://samaj.revues.org/index2785.html